VAT คืออะไร และส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร
VAT นั้นย่อมาจากคำว่า Value Added Tax หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นค่าภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อเราซื้อสินค้าหรือบริการ เวลาเราไปซื้อสินค้าหรือบริการตามร้านค้าต่างๆ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ก็จะถูกคำณวนรวมเข้ากับค่าใช้จ่ายสินค้าหรือบริการนั้น ๆ VAT คำถามคือเมื่อเราเสียภาษีดังกล่าวไปกับการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการทุกครั้ง คำถามคือแล้วคนจ่ายภาษีได้ประโยชน์อะไรจาก VAT และสถานการณ์ด้านนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับ VAT ในไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ลงทุนศาสตร์ชวนอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในบทความชิ้นนี้
ถึงแม้จะมีการเก็บภาษีประเภทอื่น ๆ เช่นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา แต่ลำพังภาษีจำนวนนั้นอาจยังไม่เพียงพอในการจ่ายสวัสดิการและบริการสาธารณะอื่น ๆ ให้พลเมือง ดังนั้นการเก็บภาษี VAT จะถูกจัดสรรไปใช้เพื่อสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สวัสดิการผู้สูงอายุ ความมั่นคง การขนส่ง สาธารณสุข โรงพยาบาล ตำรวจ และอื่น ๆ หากลองเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีการเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในระดับสูงกว่าไทย เช่น นอร์เวย์ เก็บ 25% เดนมาร์ก 25% สหราชอาณาจักร 20% ออสเตรีย 20% อิตาลี 20%
เมื่อคำณวนค่าเฉลี่ยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศต่างๆทั่วโลกแล้ว จะพบว่าค่าเฉลี่ยในการเก็บ VAT อยู่ที่อัตรา 15.5% ทั้งนี้อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราสูงในประเทศพัฒนาแล้วยังสอดคล้องกับอัตราการเก็บภาษีประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ก็ยังเก็บกันที่อัตราสูงและครอบคลุมประชากรเป็นจำนวนมากของประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7%
ADVERTISEMENT การเพิ่มหรือลดภาษีประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะจากรัฐบาลส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ นโยบายการเพิ่มภาษีมักถูกนำมาใช้หลังการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพิ่มกำลังการผลิต มีการจ้างงานมากขึ้น ประชาชนมีกำลังใช้จ่ายสูง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลให้สินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้น
ในทางกลับกันในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ภาคเอกชนสามารถทำกำไรได้น้อย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการลงทุน ทำให้ไม่มีเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม รัฐบาลจึงอาจดำเนินนโยบายลดภาษี เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีเงินไปใช้จ่ายในการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะถดถอย
ทั้งนี้การดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนมาตรการเกี่ยวกับภาษีนั้น ต้องคำนึงด้วยว่าการปรับเพิ่มหรือลดภาษีของรัฐบาลนั้น ในบางครั้งต้องอาศัยนโยบายอื่นๆร่วมด้วยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนอัตราภาษีนั้นต้องก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน
แม้การเพิ่มอัตราการเก็บ VAT จะเป็นทางเลือกที่ง่ายในการเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล แต่ต้องคำนึงด้วยว่าแนวทางนี้ไม่ได้มีศักยภาพในการลดความเหลื่อมล้ำได้ดีเท่ากับการขยายฐานภาษีจากเงินได้และทรัพย์สิน และพร้อมกันนั้นต้องมุ่งปรับปรุงโครงสร้างรายจ่ายภาครัฐในแนวทางที่ช่วยเพิ่มสวัสดิการและความเหลื่อมล้ำด้วย
อ้างอิง : https://shorturl.asia/evX5K